
คงจะไม่ผิดหากเรียกขานจากสิ่งที่ทำ ยกให้เธอเป็น 'เจ้าแม่ดิสนีย์เมืองไทย' เพราะสินค้าและของสะสมส่วนตัวแบรนด์ดิสนีย์มากมาย เรียกได้ว่ามาหาเธอแล้วจะไม่ผิดหวัง
จากวันที่ความชื่นชอบของเล่น กลายเป็นการสะสม และพัฒนากลายเป็นธุรกิจระดับใกล้ร้อยล้าน ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสพูดคุยกับ แพรพรรณ ธรรมวัฒนะ ลูกสาวคนโตของ เทอดชัย ธรรมวัฒนะ และ จินตนา ถึงเรื่องราวที่คุณจะได้รับแรงบันดาลใจ เพราะกว่าเธอจะมีวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
"เราสมัครงานก็ไม่มีคนรับเพราะคิดว่าแค่ว่ามีนามสกุลดัง"
ด้านล่างเป็นบทสัมภาษณ์ที่จะทำให้คุณมีไฟ และให้แรงบันดาลใจหาของหรือสิ่งที่รัก ก้าวพัฒนาไปสู่ธุรกิจได้กับเจ้านักสะสมของดิสนีย์ที่หายากมากที่สุดในโลก หญิงสาววัย 28 ปี เจ้าของคำพูดที่ว่า'ทำสิ่งที่รัก เหมือนไม่ได้ทำงาน'


คอนโดฯ 14 ล้าน ย่านทองหล่อ
เรานัดกันที่คอนโดมิเนียม ราคา 14 ล้าน ประตูบ้านใหญ่เปิดเข้ามา สมราคา เป็นห้องที่ขนาดน่ารัก 2 ห้องนอน 2 ห้องน้ำ การตกแต่งสไตล์โมเดิร์นนิดๆ หนึ่งในเจ้าของอาณาจักรของเล่นร้อยล้าน 'Play House' (อ่านเพิ่ม : ชวนโหวตสร้างประวัติศาสตร์ ‘เพลย์เฮ้าส์’ อาณาจักรของเล่น! ลุ้นเป็นร้านของเล่นที่ดีที่สุดจากทั่วโลก)และ 'The Gate' บอกว่าอยากให้มันดูเป็นเอิร์ธโทน เป็นคอนโดฯที่ 2 หลังจากที่แรกตอนที่ทำพลาดตกแต่งเอง เพราะเลือกจากแฟชั่นมากกว่าฟังก์ชั่น 'พังค่ะ'
สวยงามแต่ใช้งานไม่ได้จริง เจ้าของห้องบอกว่าจากสถาปนึกในตอนนั้นก็เป็นบทเรียนที่ต้องจ้างคนมีออกแบบให้ สรุปแล้วก็ได้สไตล์แบบที่เราชื่นชอบ ตกแต่งน้อยๆ ห้องนอนก็ไม่มีอะไรมาก ส่วนใหญ่เป็นเสื้อผ้ารองเท้า และก็ของสะสมดิสนีย์ ที่เยอะมากๆ
"บางชิ้นตอนนี้ราคาแพงมากระดับแสนเลยทีเดียว" แพรบอกว่า เธอได้แนวคิดแบบนี้มาจากน้องชาย
พาเดินรอบห้อง ถ่ายรูปกันอยู่พักใหญ่ ก็ถึงเวลาที่เราต้องซักไซ้ ชีวิตเจ้าแม่ดิสนีย์เมืองไทยว่า ชีวิตง่ายเหมือนดีดนิ้วหรือเปล่า


ช่วงที่ 1 - กว่าจะมาเป็นเจ้าแม่ดิสนีย์เมืองไทย
กว่าจะมีทุกวันนี้ เส้นทางเราไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบ แพร ธรรมวัฒนะ เจ้าของฉายาเจ้าแม่ดิสนีย์ บอกแบบนั้นผ่านไทยรัฐออนไลน์และย้ำว่า ก่อนหน้าเรียนจบ ป.โทด้านแฟชั่นจากต่างประเทศไปสมัครงานแต่กลับไม่มีคนรับ โดยให้เหตุผลว่านามสกุลดังไม่น่าจะทำงานได้ทนทาน
"เชื่อไหมเราไปสมัครงานมาหลายที่ บางที่กรอกตำแหน่งที่เขารับหมดเลย แต่ก็ไม่ได้ แรกๆ ก็ไม่รู้เหตุผล ทั้งๆ ที่เราเรียนจบโททางด้านแฟชั่นมา มีประสบการณ์จากการฝึกงานที่นิวยอร์กมาตั้ง 6 เดือน ที่สุดก็รู้ความจริงจากเพื่อนที่ไปสมัครงานพร้อมกัน ตำแหน่งเดียวกันแถมเราเรียกเงินเดือนน้อยกว่า แต่เราไม่ได้ จึงตัดสินใจโทรไปสอบถาม HR บอกว่าผู้บริหารเขากลัวว่าถ้าเรา
เข้ามาแล้วมันมีปัญหาผลกระทบ กลัวทำงานไม่ทน กลัวมาล้วงความลับไปทำกิจการของตัวเอง โอ้โหตอนนั้นก็นอยส์ เครียดมาก"
จนกระทั่งวันหนึ่งโอกาสก็เป็นของเธอ บังเอิญเจอกับ 'ภูมินทร์ ยุวจรัสกุล' น้องชายของ 'มิลิน ยุวจรัสกุล' ดีไซเนอร์ชื่อดังถามเราว่า ยังว่างงานอยู่หรือเปล่า เธอตอบทันที 'ว่างค่ะ' จึงมีโอกาสได้ไปเรียนรู้งาน เป็น 1 ปีที่ได้อะไรมากมายจากที่นี่จริงๆ
"แต่ก่อนเราทำงานกับอเมริกาอาจจะไม่ได้รู้เยอะ แต่มิลินทำให้แพรรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับธุรกิจในเมืองไทย แพรได้ทำทุกๆ อย่าง ไม่เคยเกี่ยง ถูพื้น พับผ้า ตอนนั้นเราได้ตำแหน่งเป็นมาเก็ตติ้งของมิลิน ยุคนั้นพนักงานอาจจะไม่ได้มีเยอะเท่าตอนนี้ มันทำให้เราได้ทำแทบทุกอย่างตั้งแต่ การคิดติดต่อพนักงานขาย ถ้าไม่มีเราก็ช่วยขายได้ ทำอยู่ 1 ปี

ช่วงที่ 2 ความฝันและความเป็นจริง
แม้จะบอกว่าความฝันก่อนหน้าก็คืออยากมีแบรนด์เสื้อผ้าเป็นของตัวเอง แต่แพรยอมรับว่า พอได้ทำงานที่ 'มิลิน' รู้สึกว่ามันยาก มันไม่ใช่เรา เราวาดรูปไม่เก่ง หลังจากออกจากมิลินก็เปิดบริษัทนำเข้าของจากต่างประเทศ เป็นของผู้หญิง กระเป๋า สมุด หนังสือ เพราะคิดว่า คนไทยชอบของต่างประเทศ เพื่อให้คนไทยไม่ต้องบินไปไกลถึงต่างประเทศราคาเทียบเท่าหรือสูงกว่านิดหน่อย
"แพรไปได้แบรนด์ยี่ห้อหนึ่งมามันจะเป็นแบรนด์ดิสนีย์หมดเลย เราก็เอาขายในพารากอน ขายเครือเซ็นทรัล ตอนนั้นยังไม่มีเพลย์เฮ้าส์ (อ่านเพิ่ม : play house ) ตอนนั้นขายดีมาก เอาอะไรมาก็หมดเลย ห้างก็บอกเราว่าขายดีนะ แพรสนิทกับทีมจัดซื้อเขาก็เลยบอกว่าคุณแพรควรเริ่มทำจากตัวคาแรกเตอร์นะ คนซื้อเยอะกว่า เลยมานั่งคิดว่าทำไมเราไม่มีร้านเป็นของตัวเองจะได้ไม่ต้องเสียค่าฝากขาย กระทั่งช่วงที่น้องชาย (พงศธร ธรรมวัฒนะ) และแพรจัด Thailand toy Expo ครั้งแรก งานอลังการที่ไม่เคยจัดขึ้นในประเทศไทยก็มีปัญหาเรื่องค่าจัดงานที่ต้องออกเอง เครียดมากช่วงนั้น โชคดีที่ได้คุณแม่ช่วยเรื่องค่าใช้จ่าย และเจ้าของแบรนด์ของเล่นที่เห็นความตั้งใจของเราลดราคาของไปเยอะมากกว่า 50% แถมยังเพิ่มของเล่นลิมิเต็ดต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก ทำให้งานครั้งนั้นกลายเป็นปรากฏการณ์คนแห่กันมามืดฟ้ามัวดินกว่า 3-4 แสนคน เรียกว่าเป็นการแจ้งเกิดของทั้งคู่เลยทีเดียว"
แพรบอกว่าจากค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเอง 20 ล้าน กลายเป็นขาดทุนแค่ 2 ล้าน ซึ่งพวกเธอมองว่า 2 ล้าน ไม่ใช่การขาดทุน เพราะพวกเฟอร์นิเจอร์ที่ได้ลงทุนไปแล้ว ปีหน้าเรานำมันกลับมาใช้ใหม่ได้
"สิ่งแรกเลย 18 ล้าน เอาเงินไปคืนแม่ก่อน พอหลังจากนั้น แม่ แพร จิ๊บ ตกใจ เพราะเราไม่เคยเห็นมาก่อน ต่างชาติบินมา เราก็งงว่าเขารู้ได้ยังไง เขาบอกว่าคุณรู้ไหมว่าแบรนด์ต่างประเทศที่เราบินไปคุยมาก่อนหน้านี้เขาลงโปรโมตให้เราทั่วโลกให้เลยว่าเขาไปงานนี้ ใครอยากได้ตัวอันลิมิเต็ดต้องมาซื้อที่นี้เท่านั้น"


ถึงเวลาเจ้าแม่ดิสนีย์เมืองไทย?
แล้วฉายาเจ้าแม่ดิสนีย์เมืองไทยมาตอนไหน เธอบอกว่า การลิขสิทธิ์ดิสนีย์มีหลายแบบทั้งของลิขสิทธิ์ตรงมาจากต่างประเทศ บางอันลิขสิทธิ์อยู่ในเมืองไทย และรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย เราจึงตัดสินใจไปดีลตรง
"พูดได้ว่าเราเป็นเจ้าแรกที่มีของดิสนีย์ครบและเยอะที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากเราทำสัญญาในการนำเข้าสินค้าคุณภาพต่างประเทศ ราคาก็ต่างประเทศด้วย ซึ่งเราไม่เหมือนกับเจ้าอื่นในประเทศไทยแน่ๆ เป็นลิมิเต็ดที่เมืองนอกมีขาย เรามีทุกอย่างพิเศษมากๆ สมุด ปากกา กระเป๋าหนังอย่างดี ตุ๊กตาเซรามิก เคสโทรศัพท์พิเศษตรงของญี่ปุ่นจะน่ารักกว่า อันสุดท้ายดีไซน์ใหม่เอาความเป็นดีไซเนอร์มาดีไซน์เสื้อผ้า แพรเอามาทำเป็นเสื้อผ้าที่วัยรุ่นใส่ได้แล้วไม่อายใคร เอามาทำให้ดูเป็นแฟชั่นขึ้น โปรเจกต์นี้มีเรามีที่เดียวเท่านั้นต่างประเทศก็ไม่มี เราเป็นเจ้าแรกที่เอามาทำร่วมแล้วเราก็เปิดตัวมาคู่กันกับหนังซินเดอเรลล่า ซึ่งแน่นอนว่าทุกอย่างมีลิขสิทธิ์ถูกกฎหมาย" เธอย้ำเสียงหนักแน่น
เมื่อว่าอะไรคือเสน่ห์ของดิสนีย์? แพรบอกว่า คาแรกเตอร์การ์ตูนที่ทำให้คนเข้าถึงได้ง่าย ช่วงเวลาที่เราดูการ์ตูน เวลาเราเครียดๆ เราหลุดลืมความเครียดไปได้ในระดับหนึ่ง จริงๆแพรว่าทุกตัวการ์ตูนมีเสน่ห์หมดแต่ดิสนีย์มันอยู่ในวงการนี้มานาน การ์ตูนพอมันเป็นดิสนีย์โอกาสที่คนจะซื้อตั๋วแล้วเข้าไปดูหนังสูงมาก
"เรามองว่ามันเป็นแบรนด์ที่มีตัวการ์ตูนที่คนรู้จักเยอะที่สุดในโลก อย่างฝั่งเอเชียจะเป็นแบรนด์ซานริโอ้ แพรจะใช้ซานริโอ้เป็น Case study ก่อนทำร้านตลอดเวลา แพรมองว่าซานริโอ้มีคิตตี้ในเมืองไทย ซึ่งดังมาก คิตตี้อยู่ในธุรกิจเมืองไทย 20 กว่าปีแล้ว เรามองว่าเดี๋ยวในอนาคตคนต้องเบื่อคิตตี้แน่เลย เราก็เลยคิดว่าจะเอาอะไรไปสู้ดี ดิสนีย์มีทั้งคาแรกเตอร์แล้วก็มีหนังออกมาเรื่อยๆ ยังไงก็ต้องมีคนชอบสักคาแรกเตอร์"

ของสะสมดิสนีย์ ที่มีมูลค่าและหายากมากที่สุด
ขึ้นชื่อว่าเป็นเจ้าแม่ดิสนีย์ทั้งไม่เพียงแค่จำหน่าย แต่ส่วนตัวก็มีของดิสนีย์สะสมมากมาย เป็นของที่มีมูลค่าและหายากมากท่ีสุดด้วย แพรบอกว่า การซื้อของเล่นเหมือนเป็นการเก็งกำไร คือ เก็บไปเรื่อยๆ อีกสัก 10 ปี เชื่อว่าราคาจะสูงขึ้น ซึ่งตรงนี้แพรเรียนรู้จากน้องชาย (อ่านเพิ่ม : เปิดอาณาจักรร้อยล้าน! พงศธร ธรรมวัฒนะ เจ้าพ่อของเล่นสาย 'ดีไซเนอร์ทอยส์' หนึ่งเดียวในไทย)

ตัวที่ 1 Cinderella เป็นลิมิเต็ดที่หาซื้อได้แค่ 1 ใน 4,000 ตัว เป็นของหายากและมีมูลค่ามาก

ตัวที่ 2 Anna แพรบอกว่าชอบซีรีส์นี้มาก เป็นตัวที่มีคนแย่งซื้อกันเยอะมากที่สุด ตัวนี้ได้มาในราคาครึ่งแสน แต่ตอนนี้ราคาไปไกล

ตัวที่ 3 Elsa ตัวนี้น่ารักและหายากอีกหนึ่งตัวได้มาในราคา 6 หมื่นบาท ปัจจุบันราคาเกือบ 1 แสน แพงเพราะคนชอบคาแรกเตอร์เธอมากๆ
ตัวที่ 4 Rapunzel ตัวนี้ติดอันดับเพราะว่าเธอชอบพวกฟังโก๊ะ ซึ่งมีความน่ารัก แนะนำให้คนที่เริ่มสะสมลองดูแล้วจะชอบ

ตัวที่ 5 Frozen singing dolls set หน้าตาคล้ายบาร์บี้ แต่เมืองไทยไม่มีขาย บางตัวมีเสียง ร้องเพลงได้ เป็นอีกหนึ่งตัวที่หายากและมีเสน่ห์

ตัวที่ 6 Mario Grin เป็นตัวพิเศษตัวเดียวในโลกไม่มีใครมีเลย ซึ่งรอน อิงลิช (เจ้าของแบรนด์ Popaganda ชื่อดังระดับโลก) ให้เป็นของขวัญ แต่ตัวนี้เป็นต้นแบบเป็นสีชมพู เพราะเวลาทำสีจะได้เห็นดีเทลชัด ตัวนี้ประเมินค่าไม่ได้ ไม่มีใครมีเลย ไม่คิดที่จะขายด้วย

อนาคตของเจ้าแม่ดิสนีย์!!!
อนาคตเราจะเห็น "แพร เจ้าแม่ดิสนีย์" เป็นแบบไหน..? เธอบอกว่า อยากจะเป็นคนยุคใหม่ที่ไม่ได้โฟกัสแค่ดิสนีย์ เนื่องจากทุกวันนี้แบรนด์อื่นก็มีมาแรงมาก เราอยากเปิดโอกาสให้ตัวเราเองและลูกค้าด้วย อยากขยายฐานลูกค้าที่รักในตัวของเล่นของสะสม แพรอยากจะเป็นเหมือนฟังโก๊ะ ที่ทำได้ทุกคาแรกเตอร์ และในอนาคตแพรอยากจะทำตัวคาแรกเตอร์ของเราเองด้วยซึ่งตอนนี้เราทำแค่สองสามตัว ขายดีมาก
สุดท้าย แพรบอกว่า สิ่งที่ได้จากของเล่นนอกจากได้ความสุข ทุกวันนี้เราไม่รู้สึกว่าเราทำงาน แพรคิดว่าถ้าคนได้ทำในสิ่งที่เรารักก็น่าจะเป็นแบบนี้เหมือนกัน อย่างถ้าเราไปเป็นพนักงานบริษัททำในสิ่งที่เราไม่รัก เราจะรู้สึกการตื่นไปทำงานในตอนเช้ามันยาก พอไปนั่งทำงานก็เมื่อไหร่จะหมดเวลา ในขณะที่เราทำแบบนี้แพรรู้สึกว่าเราทำตอนไหนก็ได้ ทุกวันนี้เหมือนแพรไม่ได้ทำงานแต่เหมือนกับมาทำวิ่งที่เรารักในทุกวัน เหมือนเป็นไลฟ์สไตล์ของเรา

**ล้อมกรอบคำคม**
ถ้าคนที่อยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจแบบแพรต้องทำอย่างไร ?
หนึ่งคือคิดว่าว่าเราชอบจริงไหม เอาความคิดนี้อยู่กับตัวเองสัก 4-5 เดือน นั่งคิดไปซ้ำๆ ซึ่งกว่าเราจะเปิดร้านได้ใช้เวลา 2-3 ปี คนเริ่มต้นธุรกิจเริ่มง่าย ทุกวันนี้คนบอกว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว แพรว่ายัง เราแค่เปิดตัวได้สวย เรายังมีเวลาคิดอีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าเด็กรุ่นใหม่ยุคนี้มีความคิดเยอะ ตื่นเต้นง่าย และตัดสินใจเร็ว โอกาสที่จะล้มเหลวมีค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจะทำอะไร ลงทุนอะไรอยากให้คิดให้ดีก่อนไม่อยากให้มองคนอื่นทำว่าง่าย ซึ่งไม่ง่าย การแข่งขันสูง อย่างเรามีเวลาเป็นคู่แข่ง หนังมีเวลาเข้าแค่หนึ่งเดือนต้องขายของภายในหนึ่งเดือนให้ได้ ต้องปรับให้ทัน เพราะฉะนั้นจะทำอะไรต้องคิดให้ดี ที่สำคัญที่สุดคือทำในสิ่งที่เรารัก"
**ประวัติการศึกษา**
ป.ตรี Assumption University Arts Business English
ป.โทใบแรก Kingston University สายBusiness Management
ป.โทใบที่สอง London College of Fashion สายFashion Marketing
ป.โทใบแรก Kingston University สายBusiness Management
ป.โทใบที่สอง London College of Fashion สายFashion Marketing
ที่มา thairath.co.th
0 comments:
Post a Comment